พ.ร.บ.ตำรวจฉบับใหม่ ย้ำเด็ดขาด ห้ามสั่งให้ตำรวจโรงพักไปช่วยราชการหน่วยอื่น

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2565 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. มีหนังสือบันทึกข้อความด่วนที่สุด เลขที่ 0009.17/4714 ลงวันที่ 17 ต.ค. ถึงรอง ผบ.ตร. และ จตช. หรือตำแหน่งเทียบเท่า, ผู้ช่วย ผบ.ตร. และรอง จตช. หรือตำแหน่งเทียบเท่า, ผบช. และ จตร. หรือตำแหน่งเทียบเท่า, ผบก. ในสังกัด สง.ผบ.ตร. หรือตำแหน่งเทียบเท่า เรื่อง การดำเนินการตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ใจความว่า ตามที่ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 139 ตอนที่ 64 ก ลง 16 ต.ค.65 โดยกำหนดให้มีผลใช้บังคับในวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ใช้บังคับ 17 ต.ค.65) เป็นต้นไปนั้น

เพื่อให้การปฏิบัติงานของ ตร. เป็นไปตามกฎหมายดังกล่าว และเป็นไปในแนวทางเดียวกัน จึงขอกำชับและซักซ้อมการปฏิบัติ โดยให้ทุกหน่วยดำเนินการ ดังนี้

1. ทุกหน่วยแจ้งให้ข้าราชการตำรวจทุกนายทราบ และทำความเข้าใจกับกฎหมายดังกล่าว โดยสามารถดาวน์โหลด พ.ร.บ.ฯ ได้ที่เว็บไซต์ของราชกิจจานุเบกษา www.ratchakitcha.soc.go.th หรือดาวน์โหลด พ.ร.บ.ฯ และสรุปย่อสาระสำคัญได้ที่ QR Code ท้ายหนังสือนี้ และแอปพลิเคชันแทนใจ รวมทั้งให้ผู้บังคับบัญชาแต่ละระดับชั้นประชุมชี้แจงให้ข้าราชการตำรวจในสังกัดทราบในการประชุมของแต่ละหน่วย

2. เมื่อ พ.ร.บ. ฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ข้าราชการตำรวจทุกนายมีสถานะเป็นข้าราชการตำรวจ ตาม พ.ร.บ.นี้ (มาตรา 169) และส่วนราชการที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.ฎ.แบ่งส่วนราชการ ตร. พ.ศ. 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการอย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นส่วนราชการตาม พ.ร.บ.นี้ จนกว่าจะมี พ.ร.ฎ. หรือกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการฉบับใหม่ ทั้งนี้ ไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ ตามมาตรา 162 ดังนั้น ทุกหน่วยงานจึงมีหน้าที่และอำนาจที่จะต้องปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่อย่างต่อเนื่องต่อไป

3. พ.ร.บ.นี้ มีผลใช้บังคับตั้งแต่ 17 ต.ค.65 เป็นต้นไป โดยยกเลิก พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนั้น การใช้อำนาจสั่งการ อนุมัติ หรือดำเนินการใดๆ ของผู้บังคับบัญชาในแต่ละระดับ ซึ่งเดิมอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 เช่น การบรรจุ การเลื่อนชั้นเงินเดือน การรักษาราชการแทน การปฏิบัติราชการแทน การดำเนินการทางวินัย การออกจากราซการ การอุทธรณ์
และการร้องทุกข์ เป็นต้น จะต้องดำเนินการโดยอาศัยฐานอำนาจตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ ทั้งนี้ ในบทเฉพาะกาล ตามมาตรา 179 ได้บัญญัติให้ในระหว่างที่ยังมิได้ตรากฎหมายลำดับรองเพื่อปฏิบัติการตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ ให้นำ พ.ร.ฎ. กฎกระทรวง กฎ ก.ตร. ข้อบังคับ ระเบียบ หรือมติ ก.ตร. ซึ่งใช้อยู่เดิมมาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับ พ.ร.บ.นี้ จึงให้พึงระมัดระวังการดำเนินการจะต้องเป็นไปตามกฎหมายใหม่ อีกทั้งในกรณีที่ไม่อาจนำกฎหมายลำดับรองที่มีอยู่ในปัจจุบันมาใช้บังคับได้ การจะดำเนินการประการใดให้เป็นไปตามที่ ก.ตร. กำหนด ซึ่งต้องไม่ขัดหรือแย้งกับ พ.ร.บ.นี้ รวมทั้งมาตรา 180 ซึ่งบัญญัติบทเฉพาะกาลสำหรับการปฏิบัติกรณีข้าราชการตำรวจที่มีกรณีกระทำผิดวินัย หรือกรณีที่สมควรให้ออกจากราชการอยู่ก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ และมาตรา 181 การปฏิบัติกรณีเรื่องอุทธรณ์และร้องทุกข์ที่ได้ยื่นไว้ก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ หรือในวันหรือหลังวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ ก็ให้ผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจดำเนินการตามบทบัญญัติของมาตราดังกล่าวด้วย

4. เฉพาะการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ตามมาตรา 178 บัญญัติว่า ในวาระเริ่มแรก ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ (ภายใน 14 เม.ย.66) การคัดเลือกหรือแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ ดังนั้นการคัดเลือกและแต่งตั้งข้าราชการตำรวจวาระประจำปี พ.ศ. 2565 จึงต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 กฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2561 รวมทั้งระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง ที่เกี่ยวข้องภายในระยะเวลาดังกล่าว

5. บทบัญญัติที่เป็นสาระสำคัญและมีหลักการที่แตกต่างจากกฎหมายเดิม ซึ่งมีผลใช้บังคับทันที เช่น การห้ามสั่งให้ข้าราชการตำรวจที่สังกัดสถานีตำรวจไปปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการอื่นที่มิใช่สถานีตำรวจ เว้นแต่ในคำสั่งนั้นจะสั่งให้ข้าราชการตำรวจอื่นมาปฏิบัติหน้าที่นั้นแทนในสถานีตำรวจนั้น (มาตรา 92) การดำเนินการทางวินัย (หมวด 7) การอุทธรณ์ (หมวด 9) การร้องทุกข์ (หมวด 10) เป็นต้น ให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นและทุกหน่วยงาน ดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสั่งให้ข้าราชการตำรวจในสังกัดสถานีตำรวจไปปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการอื่นที่มิใช่สถานีตำรวจ กรณีการสั่งให้ข้าราชการตำรวจไปปฏิบัติหน้าที่ในศูนย์ต่างๆ ทั้งในระดับ ตร. บช./ภ., บก./ภ.จว. แล้วแต่กรณี ให้พิจารณาใช้ข้าราชการตำรวจจากหน่วยงานฝ่ายอำนวยการ หรือหน่วยป้องกันปราบปรามเฉพาะทางที่มีลักษณะงานตรงกับภารกิจและหน้าที่ของศูนย์นั้นๆ ไปปฏิบัติหน้าที่แทน

6. สำหรับการสั่งข้าราชการตำรวจประจำ หรือสำรองราชการภายในอำนาจ เนื่องจากขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาจัดทำกฎให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ดังนั้น หากมีความจำเป็นจะต้องสั่งการใดๆ ให้ประสานงานหน่วยงานฝ่ายอำนวยการของ ตร. ที่รับผิดชอบ (ฝ่ายแต่งตั้ง ทพ.) ก่อน

7. ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบการจัดทำกฎหมายลำดับรองและคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินการตามร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ… เร่งรัดการดำเนินการเพื่อจัดทำกฎหมายลำดับรอง การคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการต่างๆ ได้แก่ ก.ต.ช., ก.ตร., ก.พ.ค.ตร. และ ก.ร.ตร. และการดำเนินการอื่นๆ ในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.นี้ให้เสร็จสิ้นตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด และให้รายงาน ผบ.ตร. ทราบทุกระยะ

8. กรณีกองทุนเพื่อการสืบสวน สอบสวน การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา (มาตรา 176) กำหนดให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ หนี้ ภาระผูกพัน และเงินงบประมาณของกองทุนเพื่อการสืบสวนและสอบสวนคดีอาญา ไปยังกองทุนเพื่อการสืบสวน สอบสวน การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา ดังนั้น เพื่อให้การสะสางและปิดบัญชีกองทุนเพื่อการสืบสวนและสอบสวนคดีอาญาเสร็จสิ้นโดยเร็ว สามารถส่งเอกสารให้ สตง. ตรวจสอบความถูกต้องได้ตามระยะเวลาที่กำหนด จึงให้หน่วยจัดสรรและหน่วยบริหารเงินกองทุนทุกหน่วยยุติการเบิกจ่ายเงิน กองทุนเพื่อการสืบสวนและสอบสวนคดีอาญา ภายใน 17 ต.ค.65 และส่งคืนเงินที่ยังมิได้เบิกจ่ายทั้งหมด โอนเงินเข้าบัญชี “บัญชีเงินฝากเพื่อการรับคืนเงินกองทุนเพื่อการสืบสวนและสอบสวนคดีอาญาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาปทุมวัน บัญชีเลขที่ 008-0-16409-9 ให้เสร็จสิ้นภายในวันศุกร์ที่ 21 ต.ค.65

9. กรณีที่หน่วยมีข้อสงสัยในการปฏิบัติในเรื่องใด สามารถประสานสอบถามข้อมูลได้ที่หน่วยงานฝ่ายอำนวยการของ ตร. จึงแจ้งมาเพื่อทราบและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *