ไปต่อไม่ไหว! นกแอร์ หยุดบินเบตงแล้ว หลังขาดทุนไม่ต่ำกว่า 40 ล้าน

นกแอร์ หยุดบินเส้นทางบินดอนเมือง-เบตงแล้ว หลังให้บริการเพียง 7 เดือน ประสบปัญหาภาวะขาดทุนอ่วมไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท เบนเข็มนำเครื่องบินไปทำการบินเส้นทางอื่นแทน

นายธีรพล โชติชนาภิบาล ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัทสายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า สายการบินนกแอร์ ได้หยุดทำการบินชั่วคราวในเส้นทางสนามบินดอนเมือง-เบตง แล้วตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา หลังจากเปิดทำการบินมาร่วม 7 เดือน เนื่องจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่

1.ประสบปัญหาการขาดทุน  โดยเฉพาะต้นทุนจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น

2.เครื่องบินโบอิ้ง 737-800 ของนกแอร์ที่ไถลออกนอกรันเวย์ สนามบินแม่ฟ้าหลวงเชียงรายก่อนหน้านี้ ทำให้เครื่องบิน 1 ลำของนกแอร์ ต้องออกจากฝูงบินไป ทำให้นกแอร์ต้องนำเครื่องงบิน Q 400 ที่มีอยู่ในฝูงบิน 3 ลำ ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นลำที่นกแอร์ ใช้บินเบตง นำออกมาใช้ทำการบินในเส้นทางอื่นๆของนกแอร์ที่มีจำนวนผู้โดยสารไม่มากนักแทน

3. ปัจจุบันเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ทำให้การเดินทางไปยังภาคเหนือมีดีมานต์สูงมาก ประกอบกับคนไทยเริ่มเดินทางออกนอกประเทศ นกแอร์จึงต้องปรับแผนนำเครื่องไปใช้ทำการบินใหม่ ทั้งฝูงบิน เพื่อเพิ่มเส้นทางบินในเมืองที่มีศักยภาพ

นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าเส้นทางบินเบตง เป็นเส้นทางบินระยะทางไกล รวมเวลาเดินทางไปกลับกว่า 4 ชั่วโมง อีกทั้งต้นทุนราคาน้ำมันสูง และยังไม่ทำกำไร เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มกร๊ปทัวร์ มากกว่านักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยตัวเองซึ่งที่ผ่านมาหลังจากเปิดเส้นทางการบินสู่เบตง ช่วงเฟส 1 ระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน-กรกฎาคม ที่ผ่านมา สายการบินขาดทุนกว่า 40 ล้านบาท

นอกจากนี้มีปัจจัย ราคาบัตรโดยสาร ประมาณ 6,000 บาท ต่อเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยว เปรียบเทียบกับราคาบัตรโดยสารเครื่องบินไปต่างประเทศ ที่ราคาต่อเที่ยวถูกกว่า อีกทั้งขณะนี้เริ่มเข้าฤดูหนาว นกแอร์ต้องนำเครื่องไปบินเส้นทาง กรุงเทพ-แม่ฮ่องสอน หรือ กรุงเทพ-แม่สอด ที่มีนักท่องเที่ยวมากกว่าเส้นทางเบตง จึงได้หยุดบินเส้นทางบินนี้ไป นายวุฒิภูมิ กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ ท่าอากาศยานนานาชาติเบตง มีข้อจำกัดหลัก ๆ เรื่องความยาวทางวิ่ง หรือ รันเวย์ ขณะนี้ยาว 1,800 เมตร รองรับเครื่องบินได้บางรุ่นเท่านั้น ซึ่งสายการบินขนาดใหญ่ที่มีเครื่องบินปฏิบัติการบินได้ด้วยระยะทางวิ่งดังกล่าว คือ นกแอร์ และ บางกอกแอร์เวย์ส และมีเพียงนกแอร์

การหยุดบินของนกแอร์ที่เกิดขึ้น ทำให้สนามบินเบตง กลายเป็นสนามบินร้าง สำหรับเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ เหลือแต่การใช้งานภารกิจทางการทหาร และหน่วยราชการเป็นหลัก หลังจากเปิดสนามบินเบตงมาตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2565 ลงทุนไป 1,900 ล้านบาท และในขณะนี้ยังมีความพยายามผลักดันให้ขยายทางวิ่งเป็น 2,500 เมตร เพื่อให้รองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ เช่น แอร์บัส A320 แต่ต้องใช้งบประมาณเพิ่ม 1,800 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 7 ปี

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *