ทลายโรงงานทำลูกชิ้นเถื่อน ส่งตลาดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ อึ้งเพิ่งส่งให้โรงเรียนนานาชาติ เบื้องต้นพบปนเปื้อนบอแรกซ์’
เจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (กก.4 บก.ปคบ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติงาน กรณีทลายโรงงานลูกชิ้นเถื่อนในพื้นที่ ต.คลองหลวง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ตรวจยึดอายัดของกลางกว่า 20 รายการ
สืบเนื่องจากเมื่อประมาณปลายเดือนมกราคม 2565 ปรากฏข่าวมีเด็ก 6 คน เกิดอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะ หายใจเร็ว และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล หลังรับประทานไส้กรอกไม่มียี่ห้อ เจ้าหน้าที่จึงสืบหาแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว นำมาสู่การตรวจค้นโรงงานแห่งหนึ่งใน จ.ชลบุรี ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 พร้อมอายัดของกลาง 32 รายการ มูลค่ากว่า 700,000 บาท เหตุการณ์ดังกล่าวนำมาสู่มาตรการเชิงรุก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก ซึ่งจากการสืบสวนพบว่ามีเรื่องงานผลิตลูกชิ้นเถื่อนย่าน จ.ปทุมธานี ลักลอบผลิตลูกชิ้นหมูจำนวนมากในสถานที่ไม่ถูกสุขลักษณะ แพ็คบรรจุส่งขายตามตลาดนัดในกรุงเทพฯ และปริมณฑลหลายแห่ง จึงมีการสืบสวนจนทราบถึงแหล่งผลิตลูกชิ้นดังกล่าว จากนั้นในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 เจ้าหน้าที่ได้สนธิกำลังกัน นำหมายค้นศาลจังหวัดธัญบุรี ที่ 48/2566 เข้าตรวจค้นโกดังเก่าที่ดัดแปลงเป็นโรงงานผลิตลูกชิ้น หมู่ 2 ต.คลอง 4 อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี พบนาย สัมฤทธิ์ แสดงตนเป็นเจ้าของกิจการผลิตผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นยี่ห้อหนึ่ง
โดยได้ตรวจยึดของกลาง คือ
– ผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นบรรจุถุงกว่า 30 ถุง
– เนื้อไก่และเนื้อหมูสดที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต
– สารกันบูด Sodium benzoate (วัตถุกันเสีย) จำนวน 12 กิโลกรัม
– บรรจุภัณฑ์และส่วนผสมต่าง ๆ ที่เป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 กว่า 20 รายการ
รวมถึงได้ปิดโรงงานและอายัดผลิตภัณฑ์ลูกชิ้น เนื้อสัตว์ที่กำลังแปรรูป ส่วนผสมต่าง ๆ และเครื่องจักรในการผลิต อีก 3 รายการ
การตรวจค้นครั้งนี้พบอีกว่า กระบวนการผลิตลูกชิ้นหมูดังกล่าวขาดสุขลักษณะไม่ผ่านเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด โดยลูกชิ้นหมูที่มีการโฆษณาว่าเป็นเนื้อหมูแท้นั้น มีการนำเนื้อไก่มาผสมกับเนื้อหมูเพื่อเป็นการลดต้นทุนในการผลิต และจากการตรวจสอบสถานที่ผลิตแห่งนี้ตามหลักเกณฑ์ GMP พบว่าไม่ผ่านเกณฑ์ และโรงงานดังกล่าวยังไม่มีการควบคุมการผลิตในกรณีที่มีการใช้วัตถุเจือปนอาหารอย่างเหมาะสม อีกทั้งขั้นตอนการผลิตไม่เข้าข่ายโรงงานตามกฎหมาย
จากการนำส่วนผสมที่พบในโรงงานมาตรวจสอบกับชุดทดสอบสารปนเปื้อนบอแรกซ์ เบื้องต้นพบผลเป็นบวก สันนิษฐานว่าผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นที่ผลิตในโรงงานดังกล่าวอาจมีสารบอแรกซ์ปนเปื้อนอยู่
นายสัมฤทธ์ รับว่า ทำการผลิตลูกชิ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากจาก อย. และ สสจ.ปทุมธานี โดยลูกชิ้นหมูยี่ห้อดังกล่าวไม่แสดงเลขสารบบอาหาร (ไม่ผ่าน อย.) เนื้อหมูและเนื้อไก่ที่ใช้เป็นวัตถุดิบซื้อมาจากตลาดนัดทั่วไป ส่วนสารกันบูดนั้น ซื้อมาจากร้านค้าแห่งหนึ่งย่านเขตจตุจักร กรุงเทพฯ จากนั้นจะนำส่วนผสมต่าง ๆ มาผลิตเป็นลูกชิ้น ส่งขายให้ลูกค้าตามตลาดสดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จ.ปทุมธานี , จ.นนทบุรี และ จ. สมุทรปราการ กว่า 41 แห่ง โดยจำหน่ายลูกชิ้นวันละประมาณ 300 – 800 กิโลกรัม ทำมาแล้วเป็นเวลา 2 ปี
จากการตรวจสอบบัญชีลูกค้าเพิ่มเติม พบหลักฐานบิลใบเสร็จลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 มีการส่งลูกชิ้นไปยังโรงเรียนนานาชาติแห่งหนึ่งใน จ.ปทุมธานี จำนวน 65 กิโลกรัม โดยในเบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เร่งประสานไปยังโรงเรียนดังกล่าวให้งดการนำลูกชิ้นหมูดังกล่าวมาประกอบอาหารให้กับเด็กนักเรียนแล้ว
เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522
1. ฐานผลิตอาหารปลอม ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 บาทถึง 100,000 บาท
2. ฐานผลิตเพื่อจำหน่ายอาหาร โดยสถานที่ผลิตอาหารไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการผลิตที่ดี (GMP) ระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
3. ฐานผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง ระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท
ทั้งนี้ได้เก็บตัวอย่างอาหารเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์หาสารบอแรกซ์ ชนิดและปริมาณวัตถุกันเสีย และจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หากพบสารต้องห้ามในอาหารเพิ่มเติม จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ฐานผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ///ฅนข่าว อินทรีรังสิต