‘กรมศิลป์’ จัดทำบัญชีโบราณวัตถุ หลังเจดีย์วัดศรีสุพรรณถล่ม พบหัวใจพระธาตุ สมัยพระแก้วเมือง อายุกว่า 500-600 ปี จัดทำไม้ค้ำยันกันพังทลายลงมาอีก ก่อนบูรณะ
เมื่อวันที่ 1 ต.ค.65นายพนมบุตร จันทรโชติ ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ว่าที่อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรณีพระธาตุอายุกว่า 500 ปี วัดศรีสุพรรณ จังหวัดเชียงใหม่ล้มลงนั้น ตัวเจดีย์ที่ถล่มไม่ได้เป็นโบราณสถาน แต่เป็นเจดีย์ที่สร้างครอบเจดีย์ที่เป็นโบราณสถานไว้ชั้นหนึ่ง และการที่เจดีย์ด้านนอกพังทลายลงมา ส่งผลให้เจดีย์ด้านในที่เป็นโบราณสถานได้รับความเสียหายตามไปด้วย
ในส่วนของกรมศิลปากรวางแนวทางการดำเนินการไว้ใน 3 เรื่องคือ 1.เจดีย์ถล่มครั้งนี้ ค้นพบโบราณวัตถุ ซึ่งมีทั้งพระพุทธรูป สมัยเชียงแสน ล้านนา ที่สำคัญคือ พระบรมสารีริกธาตุ หรือสมมติธาตุ และหัวใจพระธาตุ ตามคติล้านนา จากข้อมูลพบว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าศิริธรรมจักรพรรดิ หรือพญาแก้ว (พระเมืองแก้ว) มีอายุกว่า 500-600 ปี
ดังนั้นเพื่อป้องกันการสูญหาย ทางกรมศิลปากรจึงร่วมกับทางวัด จัดทำบัญชีโบราณวัตถุที่พบ และนำกลับเข้าไปบรรจุไว้ในเจดีย์ หลังการบูรณะเสร็จ ส่วนจะจัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับทางวัด แต่คงต้องพิจารณาความสำคัญของโบราณวัตถุที่ค้นพบ โดยเฉพาะหัวใจพระธาตุ ตามคติล้านนา ถือเป็นหัวใจสำคัญของเจดีย์ที่เป็นโบราณสถาน หากนำมาจัดเก็บไว้ด้านนอก จะมีความเหมาะสมหรือไม่
นายพนมบุตร กล่าวต่อว่า เรื่องที่ 2 คือ ตัวเจดีย์ด้านใน ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของกรมศิลปากร เบื้องต้นทางกรมศิลปากร ส่งเจ้าหน้าที่ไปศึกษารูปแบบเจดีย์ เพื่อดำเนินการอนุรักษ์ให้ตรงตามแบบดั้งเดิมมากที่สุด และตอนนี้อยู่ขั้นตอนของการซ่อมแซมฉุกเฉิน คือจัดทำไม้ค้ำยัน เพื่อไม่ให้พังทลายลงมามากกว่าเดิม ก่อนดำเนินการบูรณะต่อไป
“นอกจากนี้ ผมยังขอให้สำนักศิลปากร ทั้ง 12 แห่งทั่วประเทศ เฝ้าระวังโบราณสถานที่มีความเสี่ยง หากมีกรณีฉุกเฉินเกิดขึ้น จะต้องเข้าไปตรวจสอบได้ทันท่วงที ดังนั้น สิ่งที่กรมศิลปากรดำเนินการ จึงมีทั้งการจัดทำบัญชีโบราณวัตถุ แนวทางการบูรณะและ เฝ้าระวังเจดีย์โบราณสถานที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ไม่ให้ได้รับความเสียหาย หรือหากเกิดกรณีฉุกเฉินขึ้น จะได้เข้าพื้นที่ให้ความช่วยเหลือได้ทัน” นายพนมบุตร กล่าว