“พล.ต.อ.สมพงษ์”เชิญ
“ต๋อง ศิษย์ฉ่อย”แถลงเตือนภัยออนไลน์ หลังถูกหลอกสูญเงินไป 3.2 ล้าน
เนื่องจากในรอบสัปดาห์ มีข่าวแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหลอกลวง นายวัฒนา ภู่โอบอ้อม หรือ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย ให้โอนเงิน สูญเงินไป 3.2 ล้านบาทเศษ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นห่วงพี่น้องประชาชน ที่อาจจะตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพดังกล่าว จึงมอบหมายให้ พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. หัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และ พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร
ผู้ช่วย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติพร้อมด้วยคณะทำงาน แถลงข่าวเตือนภัย เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2566 เวลา 10.30 น. ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร.กล่าวว่าในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (14-20 พ.ค.2566) มีสถิติการรับแจ้งความคดีออนไลน์มากที่สุดยังเป็นคดีเดิมๆ 5 อันดับ ได้แก่ อันดับ 1) คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 2) คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ 3) คดีหลอกลวงให้กู้เงิน 4) คดีข่มขู่ทางทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center) และ 5) คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ สำหรับคดีออนไลน์ที่มิจฉาชีพนำมาหลอกลวง นายวัฒนา ภู่โอบอ้อม หรือ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย สูญเงินไป 3.2 ล้านบาทเศษ ซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนต้องเตือนให้ประชาชนได้รับทราบ จึงได้เชิญนายวัฒนา ภู่โอบอ้อม หรือ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย มาร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้ด้วย
พ.ต.อ.ก้องกฤษฎา กิตติถิระพงษ์ รองผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี บช.สอท. กล่าวถึงรายละเอียดภัยออนไลน์ในรูปแบบแก๊งคอลเซ็นเตอร์แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรศัพท์ข่มขู่นายวัฒนา ภู่โอบอ้อม หรือ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย ว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติดและฟอกเงิน โดยมิจฉาชีพคนที่ 1 แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงไทย โทรศัพท์หานายวัฒนาฯ แจ้งว่าค้างชำระบัตรเครดิตธนาคารกรุงไทย หากไม่ได้ใช้บัตรเครดิต แสดงว่ามีบุคคลอื่นนำบัตรเครดิตไปใช้ และแนะนำให้ไปแจ้งความที่ สภ.เมืองนครสวรรค์ ซึ่งเป็นท้องที่เกิดเหตุ และต่อสายโทรศัพท์ให้คุยกับมิจฉาชีพคนที่ 2 ซึ่งอ้างตนเป็น พ.ต.อ.เสฎฐวุฒิ รอดจันทร์ เนื่องจากเห็นว่าไม่สะดวกเดินทางไปแจ้งความ ระหว่างนั้น มิจฉาชีพคนที่ 3 ใช้บัญชีไลน์ ชื่อ “สภ.เมืองนครสวรรค์” ส่งบัตรประจำตัว พ.ต.อ.เสฎฐวุฒิ รอดจันทร์ มาให้ดูและแจ้งด้วยว่า นายวัฒนาฯ เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติดและฟอกเงินพร้อมส่งบัญชีธนาคารของนายวัฒนาฯ มาให้ตรวจสอบและแจ้งว่าได้ขายสมุดบัญชีธนาคารที่ไม่ได้ใช้แล้วให้บุคคลอื่นในราคา 50,000 บาท และมีเงินจำนวน 850,000 บาท ซึ่งเป็นเงินที่ได้จากการขายยาเสพติดโอนเข้ามาในสมุดบัญชี หากต้องการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ต้องโอนเงินมาตรวจสอบเส้นทางการเงิน หากตรวจสอบแล้วไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดใดๆ จะโอนเงินคืน นายวัฒนาฯ หลงเชื่อจึงโอนเงินจากบัญชีธนาคาร 5 บัญชี จำนวน 10 ครั้ง เข้าบัญชี น.ส.สุดารัตน์ (ขอสงวนนามสกุล) และ น.ส.ชนกานต์ (ขอสงวนนามสกุล) รวมเป็นเงิน 3,202,380.7 บาท ให้มิจฉาชีพไป
จุดสังเกต
1.โทรศัพท์แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สถาบันการเงินต่างๆ แล้วเริ่มบทสนทนาพูดคุยโน้มน้าวให้
หลงเชื่อ
2.อ้างสถานที่เกิดเหตุไกลจากบ้านหรือที่อยู่ผู้เสียหาย เพื่อให้ผู้เสียหายไม่อยากเดินทางไปสถานี
ตำรวจ และต้องการความสะดวกในการติดต่อทางโทรศัพท์ไลน์ หรือทางอื่น
3.แอบอ้างเจ้าหน้าที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ ส่งบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ หรือหนังสือ
ของทางราชการ ข่มขู่เพื่อให้เกิดความกลัว แล้วให้โอนเงินให้คนร้ายตรวจสอบ
4.มิจฉาชีพใช้บัญชีไลน์ส่วนบุคคล แต่ส่วนราชการหรือหน่วยงานรัฐใช้บัญชีทางการ (Line
Official)
5.บัญชีรับโอนเงินของมิจฉาชีพเป็นบัญชีส่วนบุคคล แต่บัญชีส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือ
เอกชน เป็นบัญชีหน่วยงานหรือองค์กร
วิธีป้องกัน
1)ให้ติดต่อ call center ของธนาคารเพื่อสอบถามข้อมูลโดยตรง เพราะธนาคารไม่มีนโยบายในการ
โทรศัพท์แจ้งให้ประชาชนโอนเงินไปตรวจสอบ หรือโหลดแอพพลิเคชั่น
2)กรณีอ้างหน่วยงานของรัฐที่เป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ให้โทรศัพท์สอบถามข้อมูลจาก
หน่วยงานนั้นๆ โดยตรง
3)ให้นัดหมายไปพบเจ้าหน้าที่เพื่อแจ้งความ สอบสวนปากคำ ชี้แจง หรือยื่นพยานเอกสาร
พยานวัตถุ ณ สถานที่เกิดเหตุหรือสถานที่ราชการด้วยตนเอง
4)ถ้ามีการสนทนาทาง Video call ให้มีสติและสังเกตปากกับเสียงตรงกันหรือไม่ หรือ ภาพและ
ท่าทางมีความผิดปกติหรือไม่(คนร้ายสามารถใช้โปรแกรมปลอมใบหน้าขณะสนทนาได้)
พล.ต.ต.สุระพรรณ นาทวรทัต ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 4 เปิดเผยว่าได้รวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม และข้อมูลทางการสืบสวนเส้นทางการเงินของผู้ต้องหา จากกองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(สอท.) หรือตำรวจไซเบอร์ จนสามารถออกหมายจับผู้ต้องหา บัญชีม้าแถวแรกได้แล้ว และออกหมายเรียกผู้ต้องหาเพิ่มเติม พร้อมทั้งอายัดเงินในบัญชีม้าแถวที่ 2 – 4 รวมทั้งหมดจำนวน 11 ราย โดยนัดหมายให้มารายงานตัว ในวันจันทร์ที่ 29 พ.ค.66 เวลา 10.00 น. และสอบปากคำ พ.ต.อ.เสฏฐวุฒิ รอดจันทร์ ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ จว.นครสวรรค์ ซึ่งถูกแก็งค์คอลเซนเตอร์นำไปกล่าวอ้างในการหลอกลวงต๋อง ศิษย์ฉ่อย โดยยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้ติดต่อโทรศัพท์พูดคุยกับผู้เสียหายแต่อย่างใด
พ.ต.อ.ก้องกฤษฎา กิตติถิระพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่านอกจากนี้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ยังใช้วิธีส่ง sms หลอกให้กดเพิ่มเพื่อนไลน์แล้วให้โหลดแอปพลิเคชันควบคุมเครื่องโทรศัพท์ โดยมิจฉาชีพแอบอ้างการไฟฟ้า การประปา ธนาคาร หน่วยงานรัฐ หรือเอกชน ส่ง sms ให้ผู้เสียหายกดลิงค์เพิ่มเพื่อนไลน์ แล้วหลอกให้หลงเชื่อและกดลิงก์ดาวน์โหลดแอพพลิเคชันควบคุมเครื่องโทรศัพท์ แล้วโอนเงินออกจากบัญชีผู้เสียหาย ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการแอบอ้างการไฟฟ้านครหลวง ดังนี้
มิจฉาชีพแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้านครหลวงหลอกโอนเงิน โดยส่ง sms แจ้งว่าเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าจดเลขมิเตอร์เกิน ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ โดยเพิ่มเพื่อนในไลน์ กับมิจฉาชีพซึ่งใช้ชื่อสำนักงานการไฟฟ้า และอ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้านครหลวงแล้วส่งลิงก์มาให้หลงเชื่อและกดลิงก์ เพื่อให้ผู้เสียหายดาวน์โหลดแอพพลิเคชันควบคุมเครื่องโทรศัพท์ แล้วโอนเงินออกจากบัญชีผู้เสียหาย
จุดสังเกต การเปรียบเทียบของปลอม-ของจริง
ของปลอม
1) เวบไซต์ชื่อ www.xk-line.cc นามสกุลของโดเมนไม่ถูกต้อง
2) ไลน์เป็นบัญชีส่วนบุคคล สามารถโทรหากันได้
3) ใช้โลโก้ กฟน. เหมือนของจริง แต่ใช้ชื่อบัญชี “สำนักงานการไฟฟ้า”
ของจริง
1) เวบไซต์ชื่อ www.mea.or.th นามสกุลของโดเมนคือ .or.th
2) ไลน์เป็นบัญชีทางการ ไม่สามารถโทรหากันได้
3) ใช้ชื่อบัญชี “การไฟฟ้านครหลวง”
วิธีป้องกัน
1) ไม่เปิดอ่านหรือ กดลิงก์ใน SMS แปลกปลอม หรือติดตั้งแอปพลิเคชันที่มิจฉาชีพหลอกให้ติดตั้ง
2)กรณีมีการส่ง SMS ที่ผิดปกติ ควรโทรศัพท์ตรวจสอบกับการไฟฟ้านครหลวง MEA call center
โทร. 1130 โดยตรง
3)หากต้องการติดตั้งแอปพลิเคชันใดๆ ควรโหลดและติดตั้งจาก Google Play store หรือ Apple
Store เท่านั้น ไม่ควรดาวน์โหลดจากลิ้งค์หรือข้อความที่มีคนส่งให้
พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แถลงว่าการระงับการทำธุรกรรมและอายัดบัญชีตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ห้วงวันที่ 17 มี.ค.66 – 5 พ.ค.66 มีรายละเอียด ดังนี้
Case ID ในความรับผิดชอบ 30,439 (Case ID)
พงส.แจ้งธนาคารทราบถึงการรับคำร้องทุกข์ 988 (Case ID)
พงส.แจ้งให้อายัดการทำธุรกรรม/อายัดบัญชี 762 (Case ID)
จำนวนบัญชีที่ขอระงับ/อายัด 16,597 (บัญชี)
จำนวนเงินที่ขออายัด 685,310,290 (บาท)
จำนวนเงินที่อายัดได้ 92,132,049 (บาท) (14%)
การดำเนินการตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 (บัญชีม้า) ห้วงวันที่ 17 มี.ค.66 – 17 เม.ย.66 มี ดังนี้
ออกหมายจับ จำนวน 264 คดี/268 หมายจับกุม จำนวน 170 คดี/137 คนเจ้าของไปขอปิดบัญชี จำนวน 118 บัญชี
การดำเนินการตรวจค้น จับกุม การจำหน่ายซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือแบบลงทะเบียนพร้อมใช้ แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ (ซิมเถื่อน) ได้ทำการตรวจค้นสถานที่ที่ต้องสงสัยรวมการตรวจค้นทั่วประเทศทั้งหมด จำนวน 40 จุด
พบการกระทำผิด จำนวน 4 จุด จับกุมผู้ต้องหาได้ทั้งสิ้น จำนวน 6 ราย พร้อมตรวจยึดของกลางซิมโทรศัพท์ทั้งหมด จำนวน 108,789 ซิม นำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีในฐานความผิด “เป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อหรือขายเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งลงทะเบียนผู้ใช้บริการในนามของบุคคลหนึ่งบุคคลใดแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้”
กรณีเปิดหรือยอมให้คนอื่นใช้บัญชีเงินฝาก บัตร หรือ e-wallet เป็นบัญชีม้า ให้รีบนำบัตรประชาชนไปปิดบัญชีกับธนาคารโดยเร็ว เนื่องจากเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ซึ่งมีอัตราโทษสูง คือ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอแจ้งเตือนให้พี่น้องประชาชนได้รู้เท่าทัน รูปแบบกลโกงของแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์แอบอ้างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของรัฐต่างๆ ข่มขู่ให้เกิดความกลัว และให้ผู้เสียหายโอนเงินให้ตรวจสอบ ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและสถานการณ์ว่ามิจฉาชีพจะอ้างหน่วยงานใดและใช้วิธีใด
หากมิจฉาชีพใช้วิธีนี้ขอให้พี่น้องประชาชนได้รู้เท่าทันและวางสายโทรศัพท์ทันที(หากโทรกลับจะไม่มีผู้รับสาย) มิจฉาชีพก็จะหลอกต่อไปไม่ได้ หากมิจฉาชีพใช้รูปแบบกลโกงโดยการส่ง sms พร้อมแนบลิงก์มาด้วย ขอให้พี่น้องประชาชนได้รู้เท่าทันและไม่เปิดอ่านหรือ กดลิงก์ใน sms แปลกปลอม หรือติดตั้งแอปพลิเคชันที่มิจฉาชีพหลอกให้ติดตั้ง หากต้องการติดตั้งแอปพลิเคชันใดๆ ควรโหลดและติดตั้งจาก Google Play store หรือ Apple Store เท่านั้น
สำหรับพี่น้องประชาชนเมื่อถูกหลอกหรือมีเหตุสงสัยว่าตกเป็นเหยื่อคดีออนไลน์ เช่น กรณีแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกให้โอนเงิน และแอปพลิเคชันควบคุมเครื่องโทรศัพท์แล้วโอนเงินออกไป ให้ประชาชนรีบดำเนินการ ดังนี้
1) แจ้งธนาคารทันที ผ่านเบอร์ศูนย์รับแจ้งเหตุ hotline หรือที่สาขาเพื่อให้ระงับธุรกรรมชั่วคราว
ช่วยตัดตอนเส้นทางการเงิน
(2) แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างรวดเร็ว ผ่านระบบแจ้งความออนไลน์ www.thaipoliceonline.com และต้องไปพบพนักงานสอบสวนเพื่อสอบสวนปากคำอีกครั้ง หรือเดินทางไปแจ้งความที่สถานีตำรวจท้องที่ใดก็ได้เพราะธนาคารระงับธุรกรรมชั่วคราวได้ไม่เกิน 72 ชั่วโมงโดยตำรวจจะแจ้งให้ธนาคารทราบเพื่อระงับธุรกรรมต่อไปอีก
เพื่อให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ในรูปแบบใหม่ สามารถติดตามข้อมูลการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ได้จาก เว็บไซต์ และเพจ เตือนภัยออนไลน์ หรือโทรสายด่วน 1441