เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการท่องเที่ยว ที่บริเวณหุบป่าตาด ดินแดนมหัศจรรย์ยุคไดโนเสาร์ ภายในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ต.ป่าอ้อ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี ซึ่งในช่วงนี้มีนักท่องเที่ยวทั้งใน และต่างจังหวัดเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวกันตั้งแต่เช้า เพื่อเข้าชมความงามของหุบป่าตาด ที่ทางธรรมชาติได้สร้างจูราสสิกปาร์ก (Jurassic Park) ขนาดย่อมไว้ที่หุบป่าตาดแห่งนี้ให้ได้ชม รวมถึงอีกหนึ่งสิ่งมหัศจรรย์ของโลกคือ “กิ้งกือมังกรสีชมพู” สุดยอดการค้นพบ สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ เป็นอันดับ 3 ของโลก ที่ถูกค้นพบที่ประเทศไทยที่หุบป่าตาดแห่งนี้ และเป็นแห่งเดียวของประเทศไทย ที่จะมีให้ชมได้เพียงแค่ใน ช่วงปลายฝนต้นหนาว ของทุกปีเท่านั้นอีกด้วย ซึ่งนักท่องเที่ยวที่มา จะมีทั้งแบบเป็นหมู่คณะ และครอบครัว ทำให้บรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก ที่ต่างหวัง จะเข้ามาชมกิ้งกือมังกรสีชมพูที่ หุบป่าตาดแห่งนี้
ก่อนที่จะเข้าไปภายในหุบป่าตาดนั้น จะมีเจ้าหน้าที่ภายในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน คอยประจำการในการให้ข้อมูลข่าวสารความรู้ต่างๆ ให้กับนักท่องเที่ยวเข้าไปศึกษาธรรมชาติภายในหุบป่าตาดอีกด้วย และหากเป็นในช่วงวันหยุด เสาร์ อาทิตย์ ที่นอกจากจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการแล้วนั้น ยังมีมัคคุเทศก์น้อยจิตอาสา ซึ่งเป็นเด็กนักเรียนในพื้นที่ชุมชนบริเวณโดยรอบ เข้ามาเป็นมัคคุเทศก์น้อยในการให้บริการและให้ข้อมูลตลอดเส้นทางการเดินทางดังกล่าว
ตลอดเส้นทางเดินจะมีจุดที่น่าสนใจอยู่หลายอย่าง โดยจุดแรกที่เดินเข้าไป จะพบกับถ้ำที่มีความมืด หรือที่เรียกว่า อุโมงค์แห่งกาลเวลา ซึ่งมีความยาวประมาณ 50 เมตร ภายในถ้ำจะมีความมืดสนิท เป็นที่อาศัยของค้างคาว จุดที่ 2 เมื่อเดินทะลุจากถ้ำอุโมงค์แห่งกาลเวลาแล้ว ตลอดระยะเวลาเดินทางภายในหุบป่าตาด จะได้พบกับพืชพันธุ์ไม้หายากนานาชนิด โดยเฉพาะป่าตาดพันธุ์พืชที่อยู่ในยุคดึกดำบรรพ์หรือยุคไดโนเสาร์ ซึ่งเป็นพืชตระกูลเดียวกับปาล์ม เติบโตขึ้นได้อย่างอุดมสมบูรณ์ และจะพบหินงอกหินย้อยที่จะมีความสวยงามอย่างลงตัวภายในหุบป่าตาดแห่งนี้ ซึ่งจะสามารถจินตนาการเป็นรูปต่างๆ นานา
นอกจากนี้ ภายในหุบป่าตาด ยังมีสัตว์ป่าน้อยใหญ่อาศัยอยู่ด้วยอีกหลายสายพันธุ์ อาทิ ลิง ไก่ฟ้าพญาลอ พิราบป่า นกเอี้ยงดำ เลียงผา เป็นต้น และที่ไม่ทำให้นักท่องเที่ยวผิดหวังสำหรับช่วงปลายฝนต้นหนาว ที่ทุกคนรอคอยคือ กิ้งกือมังกรสีชมพู ที่มีสีสันสวยงามออกมาโอดโฉมให้นักท่องเที่ยวได้ชมความงามและถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึกกันอย่างคึกคัก และเหตุที่ได้ชื่อว่ากิ้งกือมังกรสีชมพูนั้น เพราะอยู่ในวงศ์กิ้งกือมังกร หรือพาราดอกโอโซมาติเดีย และมีสีชมพูสดใสแบบช็อกกิงพิงค์ อีกทั้งยังมีลักษณะโดดเด่นด้วยลวดลายและปุ่มหนาคล้ายกับมังกรนั่นเอง
โดยนายสุชาติ หิรัญ เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน ได้คอยให้คำอธิบายกับนักท่องเที่ยว ทีเข้ามาชมในหุบป่าตาด (ผู้ยืนให้สัมภาษณ์หน้าป้ายหุบป่าตาด )
///////////////////
สมาคมสื่อมวลชนอุทัยธานี พชร พัสกุล